วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

ทรงพระเยาว์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ สถานพยาบาล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีพระอนุชา ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และ ในพ.ศ. ๒๔๗๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาลทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หลังจากที่ประสูติได้ไม่นานนัก สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงย้ายจากกรุงลอนดอนไปประทับอยู่ที่เมืองเซาท์บอน ทางฝั่งตะวันออก และหลังจากนั้นไปประทับที่เมืองบอสคัม ทางชายฝั่งทะเลด้านใต้ของประเทศอังกฤษ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือน ต.ค. พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จกลับประเทศไทย เมื่อเสด็จถึงประเทศไทย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานพระตำหนักใหญ่ของวังสระปทุมเป็นที่ประทับ พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล ซึ่งเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระบรมราชชนนี ระหว่างที่ทรงศึกษาวิชาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ถวายการอภิบาล ต่อมาพ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศส
การศึกษา
ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทย เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ทรงนำพระธิดาและพระโอรสพระองค์ แรกไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กโซเลย์ (Champ Soleil) หลายเดือน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศส ในปลาย พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตัน (Boston) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School) ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard) จึงได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย และประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี และทรงศึกษาอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระโอรส-พระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เข้าศึกษาในโซเลย์อีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลา ๒ เดือน แล้วจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาชื่อเมียร์มองต์ (Miremont) การศึกษาที่เมียร์มองต์นั้นครูมีการอ่านเรื่องสั้น ๆ ให้ฟัง นักเรียนจะต้องเขียนเรื่องที่ได้ฟังส่งให้ครูตรวจ ในระยะแรกทรงเขียนได้เพียง ๑ บรรทัด จากเรื่องยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษที่ครูอ่าน ครั้งหนึ่งครูให้เขียนประโยคเกี่ยวกับ TAON (ตัวเหลือบ) ทรงเข้าพระทัยคิดว่าเป็น PAON (นกยูง) เพราะเสียงคล้ายกัน จึงทรงเขียนว่า “TAON เป็นนกที่สวยงาม” แต่อีกต่อมาประมาณ ๒ ปี ก็ทรงเขียนร่วมกับนักเรียนชาวสวิตได้อย่างดี จนจบชั้นประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ และรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์สมบัติ หลังจากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงนำพระโอรส-พระธิดา ไปประทับที่บ้านซึ่งพระราชทานนามว่า วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เมืองปุยยี ใกล้กับโลซาน พ.ศ. ๒๔๗๘ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรี ชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ชั้นมัธยมศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นับจาก ชั้น ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ทรงสามารถสอบเข้าชั้น ๕ ในระดับมัธยมศึกษาได้ ทรงเรียนภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่เจนีวา ในลักษณะของนักเรียนประจำที่ International School of Geneva ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาได้เยี่ยมเป็นที่ ๑ ของโรงเรียน และที่ ๓ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และได้รับ Diplôme de Chimiste A เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ในระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ - ครุศาสตร์ Diplime de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเคมีแล้ว ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย
การทรงงาน
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ ได้รับสั่งแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส นิสิตที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ด้วยล้วนปีติยินดีในพระกรุณาธิคุณยิ่งนัก หลายคนรำลึกได้ว่าในวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสทรงสอนผลงานของ Victor Hugo นักประพันธ์เอกของโลก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ ใน พ.ศ.๒๕๑๒ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอรับพระราชทานพระกรุณาให้ทรงเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงรับงานสอนและงานบริหารโดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ อันประกอบด้วยภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่าง ๆ และทรงดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ทรงจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสจนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติงานสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบทูลเชิญเป็นองค์บรรยายพิเศษตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อพระราชกิจด้านอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก นอกจากนั้น ยังทรงรับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศสในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย ต่อมาเมื่อทรงทราบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตา เสด็จไปทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสโดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์อื่น ๆ ระหว่างที่ทรงงานสอน ได้ทรงร่วมกิจกรรมทางวิชาการหลายด้าน เช่น ทรงเป็นกรรมการสอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นประธานออกข้อสอบภาษาฝรั่งเศสในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ หลังจากที่ปฏิบัติงานด้านการสอนมาจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระอนุเคราะห์แก่สมาคมฯ ในทุกทาง อาทิ ทรงสนับสนุนการพิมพ์วารสารของสมาคม เพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ พระราชทานพระนิพนธ์บทความลงวารสาร ทรงส่งเสริมให้สมาชิกครูได้เข้ารับการสัมมนา ดูงานและศึกษาต่อ เป็นต้น การเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสและการวิจัยด้านภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาจึงเจริญรุดหน้าเป็นลำดับ
เจ้าฟ้าดวงใจไทย พระเกียรติคุณเลิศล้ำ..อเนกอนันต์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด 84 ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ทรงทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เรียงตามลำดับศักดิ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังต่อไปนี้ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก), เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.), เครื่องราชอิสริยา ภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.), เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช), เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.), เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นปฐมดิเรก คุณาภรณ์ (ป.ภ.), เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 1 (ส.ช. 1), เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีพิเศษ, เหรียญกาชาดสรรเสริญ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 8 ชั้น ที่ 1 (อ.ป.ร.1) และเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร. 1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศทหารและแต่งตั้งนายทหารชั้นพิเศษ เป็นกรณีพิเศษ แก่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นลำดับดังนี้ พระราชทานพระยศทหารให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น พันโท และเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2527 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พันโทหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นราชองครักษ์พิเศษ รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระยศทหารให้พันโทหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น นาวาโทหญิง นาวาอากาศโทหญิง และเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธินและประจำกองนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2527 พระราชทานพระยศทหารให้ พันโทหญิง นาวาโทหญิง นาวาอากาศโทหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น พลตรีหญิง พลเรือตรีหญิง พลอากาศตรีหญิง เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2532 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระยศให้พลตรีหญิง พลเรือตรีหญิงและพลอากาศตรีหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น พลโทหญิง พลเรือโทหญิง และพลอากาศโทหญิง เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2538 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบ ที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถวายฯ พระราชทานพระยศทหารให้พลโทหญิง พลเรือโทหญิง พลอากาศโทหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็น พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง กับแต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และประจำกองพันทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์ เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2540 เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์ สาธารณสุข โดยเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยจึงได้จัดสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ “ตึกกัลยาณิวัฒนา” ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2538 กองทัพบกได้จัดตั้ง กองพันพัฒนาที่ 4 กรมพัฒนาที่ 4 ขึ้นมาใหม่และมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส กองทัพบกจึงขอพระราชทานนามหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า “ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งมีคำขึ้นต้นเหมือนนามจังหวัดตามธรรมเนียมแบบโบราณ ทั้งนี้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนและทหารในจังหวัดนราธิวาส ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระชนมายุครบ 6 รอบ และทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ จัดตั้ง “สถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์” ณ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาภาษา วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม จะเป็นประโยชน์ในทางวิชาการและนำมาซึ่งความสมานฉันท์ ความเข้าใจอันดีของกลุ่มชน และความเจริญของประเทศ นอกจากนี้ประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ยังเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรที่จะรวมตัวกันจัดตั้งมูลนิธิเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า “มูลนิธิกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิอีกด้วย โรงพยาบาลนราธิวาสยังได้ใช้โอกาสสำคัญนี้ขอพระราชทานชื่อโรงพยาบาลใหม่ โดยพระราชทานชื่อ “โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระราชทานชื่อ “อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เป็นชื่ออาคารเรียนหลังแรกให้แก่วิทยาลัยลุ่มแม่น้ำปิง จังหวัดตาก เมื่อครั้งที่กรุงเทพมหานครได้พิจารณาแยกเขตคลองเตยออกเป็นสำนักงานเขตย่อย เพื่อสะดวกต่อการบริหารและให้บริการประชาชน เนื่องจากเขตคลองเตยมีพื้นที่กว้างขวางและมีพลเมืองเพิ่มจำนวนมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อ “สำนักงานเขตวัฒนา” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2540 รวมไปถึงพระราชทานชื่อ “ถนนนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งเป็นถนนตัดใหม่บริเวณเลียบคลองช่องนนทรีเพื่อแก้ปัญหาการจราจรด้วย และด้วยพระปรีชาหลากหลายโดยเฉพาะด้านการศึกษา สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลากหลายด้าน การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของปวงชนชาวไทย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น